โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (กิจกรรมสำรวจเก็บข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น)


จำนวนผู้อ่าน : 4

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สนองพระราชดำริ (กิจกรรมสำรวจเก็บข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น)

โดย องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

 

๑. หลักการและเหตุผล

          ฐานทรัพยากรท้องถิ่น มีความหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนทั่งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ การประกอบอาชีพ รูปแบบการดำเนินชีวิต การสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมในชุมชน จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่ชัดเจน

          ฐานทรัพยากรท้องถิ่นในแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชการกุมารี เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาเห็นความสัมพันธ์ของคนไทยที่มีต่อลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ โดยการคิดหาทางนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ หรือปรับวิถีชีวิตของคนเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น จนกระทั่งเกิดการสะสมความรู้และประสบการณ์ในการจัดการกับสิ่งที่อยู่รอบๆตัวใสสร้างให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต โดยไม่ทำลายฐานทรัพยากรเหล่านั้นให้หมดไปจากการถูกใช้งาน นอกจากนี้สิ่งประดิษฐ์ใดๆที่เกิดขึ้นมาจากความคิด การสร้างสรรค์ หรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อพัฒนา และแก้ไขปัญหาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน ก็นับว่าเป็นฐานทรัพยากรท้องถิ่นด้วย

          ปัจจุบันปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพรรณพืช มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงเองตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ การระเบิดของภูเขาไฟ การชะล้างพังทลายของดิน การบุกรุกการตัดไม้ทำลายป่า  รวมถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึงในปัจจุบันมาตรการป้องกันจากนโยบายของภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จึงควรมีการปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมความตระหนักในเชิงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

          ปัจจุบันการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ถือว่ามีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง พันธุกรรมพืชถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า และมีความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์พืชในอนาคต ความหลากหลายทางพันธุกรรมของทรัพยากรเหล่านี้อาจจะสูญหายไป เนื่องจากความไม่รู้ของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ การจำแนกและการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชจึงมีบทบาทสำคัญที่จะดำรงทรัพยากรนี้ให้ยั่งยืนและถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรบางครั้งเราก็ไม่สามารถจำแนกพืชได้ถูกต้องและตลอดไป ดังนั้นการรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนมากที่สุด และสามารถใช้ได้เป็นเวลายาวนานที่สุด โดยต้องให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์น้อยที่สุด และจะต้องกระจายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยทั่วถึงกันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมทางพันธุกรรมพืชที่สำคัญของประเทศที่จำเป็นยิ่ง เพื่อให้อยู่คู่กับเราตลอดไป

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทรงพระราชดำริเป็นครั้งแรกในปี 2536 โดยส่วนหนึ่งของพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช คือ "การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณ นั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปีติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วเกิดผลเสีย อันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว"

 

ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามพระราชดำริในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางพันธุกรรมพืชที่สำคัญ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วินได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น  เนื่องด้วยตำบลเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติหลากหลาย จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนองพระราชดำริฯตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

 

๒. วัตถุประสงค์

            ๒.๑ เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

          ๒.๒ เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชท้องถิ่นและแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน

          ๒.๓ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และสร้างรายได้เสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชุมชน

          ๒.๔ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

          ๒.๕ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรในการพึ่งพาตนเองสู่เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

          ๒.๖ เพื่อสร้างจิตสำนึกโดยเน้นการมีส่วนร่วมของราษฎรในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง

 

๓. กลุ่มเป้าหมาย

          หมู่บ้านทั้ง ๑๙ หมู่บ้าน โรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่ตำบลแม่วิน

 

๔. วิธีการดำเนินการ

          ๔.๑ ประชุมการมีส่วนร่วมของราษฎร วิสาหกิจชุมชน โรงเรียนและองค์กรชาวบ้านอื่นๆ เพื่อกำหนดขอบเขตและกฎกติกาและแนวทางในการดำเนินโครงการและคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบและดำเนินโครงการ

๔.๒ ดำเนินการสำรวจแนวเขตพื้นที่โครงการฯ เพื่อแสดงขอบเขตที่ชัดเจน

๔.๓ ดำเนินการสำรวจฐานทรัพยากรท้องถิ่น นำโดยปราชญ์ชาวบ้านและคณะกรรมการโครงการ ออกพื้นที่สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช และจัดทำป้ายแสดงชื่อพฤกษศาสตร์ คุณสมบัติ และคุณประโยชน์ของพันธุ์พืชแต่ละชนิด

          ๔.๔ ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช และเป็นศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช

          ๔.๕ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยเน้นการมีส่วนร่วมของราษฎรในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง

 

๕. เป้าหมาย

          นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ครู โรงเรียนแม่วินสามัคคีฯ ปราชญ์ชุมชน รวม ๑๒๐ คน

 

๖. หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

 

. ระยะเวลาดำเนินการ

          วันที่ ๒๒ – ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารสวนตำบลแม่วิน

 

๘. พื้นที่ดำเนินการ

          องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน ,หมู่บ้านทั้ง ๑๙ หมู่บ้านของตำบลแม่วิน รวมถึง โรงเรียนและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ

 

๙. งบประมาณ

เบิกจ่ายจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน ประจำปีงบประมาณพ.ศ. ๒๕๖๐

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสนองพระราชดำริ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน ตั้งไว้ ๒๔,๐๕๐ บาท โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายปรากฏตามเอกสารแนบท้ายโครงการ

 

๑๐. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          ๑๐.๑ เป็นแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และแหล่งสมุนไพรพื้นบ้านของชุมชน โรงเรียนและบุคคลภายนอก

๑๐.๒ พรรณไม้อื่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้

๑๐.๓ ความรุนแรงจากไฟป่าลดลง และลดปัญหาไฟป่าและมลพิษ

          ๑๐.๔ ปริมาณคุณภาพและการไหลของน้ำเพิ่มขึ้น

๑๐.๕ ราษฎรมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และเกิดความรู้สึกหวงแหนและร่วมมือกันปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน